Skip to content Skip to footer

สิงห์ เบเวอเรช-สวทช. เปิดโรงงานโชว์ความสำเร็จโครงการ TIME ยกระดับขีดความสามารถ-พัฒนาคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม

ณ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด จ.นครปฐม : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับ บริษัท สิงห์  เบเวอเรช จำกัด เปิดโรงงานเยี่ยมชมความสำเร็จภายใต้ “โครงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการบริหารจัดการนวัตกรรมองค์กรแบบทั่วถึง (Total Innovation Management Enterprises Program: TIME)” ที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถภาคเอกชน-พัฒนาคนตอบโจทย์อุตสาหกรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรม และเติบโตบนฐานของการสร้างนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตอบโจทย์ภาคการศึกษาที่ได้ทำงานใกล้ชิดและเข้าใจบริบทของการผลิตระดับอุตสาหกรรม นำไปสู่การผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชนจากการทำงาน 2 ปีในโรงงาน

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า โครงการ TIME เป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนากระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยบริษัทและทีมที่ปรึกษาของโครงการ TIME จะวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการโดยมีทีมอาจารย์จากสถาบันการศึกษาให้คำปรึกษาในการวิจัยซึ่งกำกับดูแลโดยประธานหลักสูตรของสถาบันการศึกษานั้น ๆ และนักศึกษาปริญญาโทจะเข้าไปวิจัยและทำงานในสถานประกอบการตลอดระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับบุคลากรของบริษัท ขณะเดียวกันทีมที่ปรึกษาของโครงการ TIME จะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเพื่อสร้างนวัตกรรม กระตุ้นให้เกิดการมองความต้องการของตลาด จุดที่จะต้องทำวิจัยพัฒนา และความร่วมมือกันของบุคลากรหลายๆ ฝ่ายในบริษัท ซึ่งมีข้อดีคือ ในระยะเวลา 2 ปี สิ่งที่บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการจากงานวิจัยจะสามารถนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ทันที ต่างจากเดิมที่การทำวิจัยจะเริ่มจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน เมื่อสำเร็จแล้วจึงดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการพัฒนาด้านการตลาดในภายหลัง

ดร.บรรพต หอบรรลือกิจ ที่ปรึกษา ฝ่ายยุทธศาสตร์และติดตามประเมินผล ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมในโครงการ TIME เริ่มต้นจากการส่งผู้เชี่ยวชาญไปวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมของกระบวนการผลิต, ผลิตภัณฑ์ และการบริการ 2. มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะสูง โดยโครงการฯ จะนำเสนอกิจกรรมภายใต้แผนการดำเนินงาน การเลือกหัวข้อองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับโครงการ นำไปสู่การออกแบบแผนงานของโครงการร่วมกัน 3 ฝ่าย คือผู้ประกอบการ, อาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาโครงการ TIME เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันตั้งแต่กระบวนการการคัดสรรนักศึกษา, การจัดอบรม และการกำกับกระบวนการทำโครงงานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาจนสิ้นสุดหลักสูตร

คุณปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายที่มุ่งสู่การเป็น Smart Factory มีการนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิต การวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยสิ่งที่บริษัทต้องการคือความรู้เชิงลึก ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสถานประกอบการ ซึ่งแนวทางการดำเนินการของโครงการ TIME สอดคล้องกับความต้องการของบริษัท ในด้านการนำบุคลากรที่มีความรู้เชิงลึกทางทฤษฎีมาเชื่อมโยงกับพนักงานที่มีทักษะในการปฏิบัติงานจริง เพื่อสร้างนวัตกรและนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนการพัฒนาพนักงานของบริษัทฯ อีกทั้งบริษัทฯต้องการให้โอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพ รวมทั้งให้การสนับสนุนและพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศและอุตสาหกรรม เพื่อให้มีบุคลากรที่มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สิ่งที่บริษัทได้รับจากการดำเนินโครงการคือการเรียนรู้กระบวนการในการพัฒนา เพื่อให้พนักงานสามารถต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมจนได้นวัตกรรมในกระบวนการผลิตใหม่ ๆ ให้กับองค์กร บุคลากรมีการพัฒนาและสามารถปฏิบัติงานร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูงได้ เกิดการวิจัยพัฒนากากอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าสูงขึ้น และสามารถลดต้นทุนและเพิ่ม Productivity ให้กับบริษัทฯ อีกด้วย

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่าBOI ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคน ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการลงทุน และพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศที่ต้องการกำลังคนที่มีทักษะสูงและเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ BOI จึงส่งเสริมภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ TIME ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมแก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมและมีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรในเทคโนโลยีสำคัญ หรือมีการวิจัยพัฒนาทั้งกระบวนการผลิต หรือผลิตภัณฑ์ในโครงการดังนี้ 1. สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการดำเนินการเอง หรือการว่าจ้างผู้อื่นในประเทศ หรือการร่วมวิจัยและพัฒนากับองค์กรในประเทศหรือต่างประเทศ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมสูงสุด 5 ปี ในวงเงินร้อยละ 300 ของเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และการจัดฝึกอบรมหรือฝึกการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้คิดเป็นร้อยละ 200 ของเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 2.สิทธิและประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรณีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการเป้าหมายมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จะได้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มเติม โดยจะต้องยื่นแผนความร่วมมือในการรับนักเรียนหรือนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพ  ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรือไม่น้อยกว่า 40 คน แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า

ทั้งนี้ โครงการ TIME จึงถือเป็นโครงการหนึ่งที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 หรือการสร้างให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานของนวัตกรรม ทำให้ประเทศมีความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจโครงการ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.บรรพต หอบรรลือกิจ โทร. 081- 449-5365  อีเมล banpot.hor@ncr.nstda.or.th

 

ขอขอบคุณที่มา  https://www.nstda.or.th/home/news_post/time-singha-nstda/?fbclid=IwAR0ZQc2KyfcVyKP2Igk9emH0s2PpifAcI7L8E2wJomy6L5GlTOM6LSVKZgE

Leave a comment